การใช้งานระบบจัดการสี

เพื่อการอัดรูประดับมืออาชีพ

Color Managed Printing

ลูกค้าหลายท่านคงเคยประสบปัญหา นำไฟล์ภาพไปล้างอัดตามร้านต่างๆ หรือปริ้นท์ด้วยเครื่องปริ้นท์ของตัวเองที่บ้านแล้วได้รูปที่สีเพี้ยนไปไม่ตรงกับจอภาพ รูปมืดหรือสว่างเกินไป ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการนำระบบจัดการสี (Color Management System) ไปใช้งานในกระบวนการทำงาน (Color Managed Workflow) ซึ่งอนุญาตให้ลูกค้าควบคุมคุณภาพสีตั้งแต่ต้นทาง โดยสโนว์ไวท์ดิจิตอลโฟโต้เซอร์วิสมีระบบจัดการสีที่แม่นยำและสมบูรณ์แบบที่สุดในส่วนภูมิภาค เป็นที่ไว้วางใจจากช่างภาพอาชีพทั่วประเทศในการผลิตงานที่ให้สีได้อย่างแม่นยำเที่ยงตรงที่สุดเป็นไปตามมาตรฐานสากลของอุตสาหกรรมภาพถ่าย ซึ่งลูกค้าสามารถใช้งานได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. คาลิเบรตจอมอนิเตอร์
  2. ไฟล์ภาพต้องมีฟอร์แมทที่ถูกต้อง
  3. การส่งงานมาให้เรา
  4. ปัจจัยที่มีผลกับความแม่นยำของสี

1. คาลิเบรตจอมอนิเตอร์

ทราบหรือไม่ว่าอุปกรณ์แสดงผลของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต จอมอนิเตอร์ แม้จะเป็นรุ่นเดียวกันผลิตในสายการผลิตเดียวกัน ก็อาจแสดงสีและแสงได้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับคุณภาพในการผลิต อายุการใช้งาน และปัจจัยอื่นๆ อีกจำนวนมาก ดังนั้นก่อนที่ลูกค้าจะเปรียบเทียบรูปที่ล้างอัดออกมาว่ามีสีตรงกับอุปกรณ์แสดงผลที่ใช้อยู่หรือไม่ จำเป็นจะต้องทำการปรับแต่งจอมอนิเตอร์ของลูกค้าให้แสดงผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำตามมาตรฐานก่อน ซึ่งเราเรียกว่าการคาลิเบรตจอมอนิเตอร์ (Monitor Calibration)

อุปกรณ์ที่ใช้คาลิเบรตจอมอนิเตอร์

สามารถทำได้โดยใช้เครื่องคาลิเบรตจอมอนิเตอร์โดยเฉพาะเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายทั่วไปในร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพขนาดใหญ่ในราคาไม่แพง เช่น Spyder จากบริษัท Datacolor หรือ ColorMunki หรือ i1Display จากบริษัท X-Rite ในการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องวางตัวอุปกรณ์ไว้บนหน้าจอมอนิเตอร์เพื่อทำการอ่านค่าแสงและสีจริงที่จอมอนิเตอร์แสดงผลออกมา ทำให้การคาลิเบรตมีความแม่นยำสูง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการคาลิเบรตจอมอนิเตอร์
อุปกรณ์ที่ใช้คาลิเบรตจอมอนิเตอร์

ประเภทขอจอมอนิเตอร์ที่ใช้

ควรเป็นจอมอนิเตอร์สำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop Monitor) โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องใช้มอนิเตอร์ที่มีราคาแพงมากนัก เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีของ LCD, LED ก้าวหน้าไปมาก จอมอนิเตอร์รุ่นที่วางขายทั่วไปในปัจจุบันก็ให้ผลลัพธ์ที่ยอมรับได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว โดยทางร้านขอแนะนำเพิ่มเติมในการเลือกซื้อดังต่อไปนี้

ใช้เครื่อง Mac สีตรงอยู่แล้วต้องคาลิเบรตหรือไม่?

เป็นความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งว่าจอของเครื่อง Mac ให้สีตรงอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องทำการคาลิเบรต ข้อเท็จจริงคือบริษัท Apple นั้นเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี ColorSync ที่ใช้ในการจัดการสีซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการพัฒนามาเป็นระบบจัดการสีในปัจจุบัน (Color Management System) แต่ก็เป็นเรื่องของระบบซอฟต์แวร์ที่รองรับระบบจัดการสีเท่านั้น ในส่วนของฮาร์ดแวร์นั้นมอนิเตอร์ของเครื่อง Macintosh ทุกตัวแม้จะสามารถตั้งค่า D65 ใน System Preferences ได้ ก็จะต้องมีการคาลิเบรตตามขั้นตอนเสียก่อน ข้อดีก็คือส่วนใหญ่จอของ Macintosh จะมีคุณภาพค่อนข้างดีมาก ซึ่งจะทำให้การคาลิเบรตได้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างเที่ยงตรงและแม่นยำ หากท่านไม่คาลิเบรตจอมอนิเตอร์จะเทียบสีรูปกับจอไม่ได้โดยเด็ดขาด

* สำหรับลูกค้าที่ระบบ MacOS อย่าลืมปิดฟังค์ชั่น Auto Brightness ก่อนคาลิเบรตหน้าจอด้วย
** สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบ ADC ในการปรับค่าแสง RGB ในการคาลิเบรตเช่น iMac หรือ Macbook หากมีการรีเซ็ตหน่วยความจำของฮาร์ดแวร์ (PRAM NVRAM) หรือมีการอัพเกรดระบบปฏิบัติการเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ควรทำการคาลิเบรตใหม่ด้วยเช่นกัน

การตั้งค่าการคาลิเบรต

ให้ลูกค้าใช้ค่าดังต่อไปนี้ในการคาลิเบรต

White Point: D65 (~6504 Kelvin)
Gamma: 2.2
Illuminance: 70-120 cd/m2

1-a แสดงอุณหภูมิสีอย่างถูกต้อง จากปกติที่มอนิเตอร์จำนวนมากจะมีการตั้งค่าอุณหภูมิสีขาวไว้ประมาณ 9300 Kelvin มาจากโรงงาน ซึ่งเป็นสีอมฟ้าที่เหมาะกับการทำงานเอกสารแต่ไม่เหมาะกับการใช้งานด้านการตกแต่งภาพถ่าย หากลูกค้าตกแต่งไฟล์ภาพด้วยจอมอนิเตอร์ที่แสดงอุณหภูมิสีไม่ถูกต้องผิดเพี้ยนไปจากอุณหภูมิมาตรฐานการถ่ายภาพ เมื่อนำไฟล์ภาพไปอัดรูปก็จะพบว่ารูปที่ล้างอัดมีสีผิดเพี้ยนไปในทิศทางตรงกันข้ามจากที่แสดงบนจอมอนิเตอร์ เช่นถ้าจอมีสีอมฟ้ารูปที่ได้ก็จะอมเหลืองแดง หรือหากจอมอนิเตอร์มีสีอมเขียวรูปที่ได้ก็จะออกม่วงกว่าจอเป็นต้น ลูกค้าจึงจำเป็นต้องคาลิเบรตอุณหภูมิสีของจอมอนิเตอร์ของท่านไปที่ค่าที่เป็นกลางและเหมาะสมกับการถ่ายภาพที่สุดที่เราเรียกว่ามาตรฐาน D65 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ใกล้เคียงกับอุณหภูมิ 6504 Kelvin เมื่อลูกค้าตกแต่งไฟล์ภาพด้วยจอมอนิเตอร์ที่แสดงแสงสีตรงตามมาตรฐานแล้ว หากนำไฟล์มาล้างอัดกับผู้ให้บริการที่มีการควบคุมระบบสีในการผลิตที่ใช้มาตรฐานเดียวกันก็จะได้งานที่สีตรงกัน

อุณหภูมิสี 4000 Kelvin
อุณหภูมิสี 4000 Kelvin

อุณหภูมิสี 6504 Kelvin
อุณหภูมิสี 6504 Kelvin
เป็นมาตรฐานสีขาวสำหรับงานภาพถ่าย

อุณหภูมิสี 9300 Kelvin
อุณหภูมิสี 9300 Kelvin

1-b แสดงผลรายละเอียดของภาพจากจุดที่มึดไปจุดที่สว่างอย่างถูกต้อง ตามค่ามาตรฐาน Gamma 2.2 ซึ่งหากลูกค้าไม่มีการคาลิเบรตจอมอนิเตอร์มาก่อน จอมอนิเตอร์อาจจะแสดงรายละเอียดบางส่วนของภาพมึดหรือสว่างกว่ามาตรฐาน ทำให้เมื่อนำไฟล์มาอัดรูปแล้วจะพบปัญหาว่ารายละเอียดของภาพในบางจุดสว่างเกินไปหรือมึดเกินไปในทิศทางตรงกันข้ามกับภาพที่แสดงบนจอมอนิเตอร์เช่นกัน

Gamma ต่ำเกินไป
Gamma ต่ำเกินไป

Gamma 2.2 ตามมาตรฐาน
Gamma 2.2 ตามมาตรฐาน

Gamma สูงเกินไป
Gamma สูงเกินไป

1-c แสดงระดับความสว่างโดยรวมที่เหมาะสม โดยสำหรับการตั้งค่า Illuminance หรือความสว่างโดยรวม (Brightness) นั้นไม่มีค่ามาตรฐานที่แน่นอน เพราะต้องตั้งค่าให้สัมพันธ์กับแสงสว่างในบริเวณที่ตั้งจอมอนิเตอร์ หากแสงสว่างในพื้นที่ค่อนข้างมึดควรตั้งค่าที่ 70-90 cd/m2 หรือหากเป็นพื้นที่โล่งสว่างให้ตั้งค่าที่ 90-120 cd/m2 หรืออาจจะใช้วิธีเทียบรูปที่ได้จากการล้างอัดกับจอภาพ หากรูปที่ได้มึดกว่ารูปในจอภาพ ให้ท่านทำการคาลิบรตใหม่โดยลดค่า Illuminance ลง หรือหากรูปที่ได้สว่างกว่ารูปในจอภาพ ก็ให้คาลิเบรตโดยเพิ่มค่า Illuminance ให้สูงขึ้นก็จะง่ายในการคาลิเบรตที่สุดค่ะ

1-d มีการบันทึกคุณลักษณะการแสดงผลที่เฉพาะเจาะจงกับจอมอนิเตอร์ของเราสร้างเป็นมอนิเตอร์โปรไฟล์ ซึ่งโปรแกรมที่รองรับระบบจัดการสีสมบูรณ์แบบ (Fully CMS Aware Applications) เช่นโปรแกรมในตระกูล Adobe จะนำข้อมูลนี้ไปทำการชดเชยการแสดงผลไฟล์ภาพบนหน้าจอให้มีระดับความสว่าง การไล่โทนแสงเงาและสีสันอย่างถูกต้องตรงตามมาตรฐาน และทำให้ลูกค้าสามารถใช้ฟังค์ชั่นอย่างเช่น Soft Proofing ใน Adobe Photoshop เพื่อทำการพรู๊ฟสีบนหน้าจอก่อนปริ้นท์ได้ สำหรับระบบปฎิบัติการ Windows ลูกค้าสามารถตรวจสอบว่ามีการติดตั้งมอนิเตอร์โปรไฟล์ได้ในส่วน Control Panel ▶ Color Management และสำหรับ macOS จะได้ได้จากใน System Preferences ▶ Display ค่ะ

มอนิเตอร์โปรไฟล์ใน Windows 10
มอนิเตอร์โปรไฟล์ใน Windows 10

มอนิเตอร์โปรไฟล์ใน macOS
มอนิเตอร์โปรไฟล์ใน macOS

2. ไฟล์ภาพต้องมีฟอร์แมทที่ถูกต้อง

งานอัดรูปจะต้องใช้ไฟล์ JPEG โหมดสี RGB 8 bits/channel และใช้โปรไฟล์สี sRGB เท่านั้น การใช้ไฟล์ที่มีฟอร์แมทผิดไปจากนี้จะส่งผลให้สีของงานอัดรูปมีความผิดเพี้ยนทันที และสำหรับความคมชัดสูงสุด ไฟล์จะต้องมีความละเอียดอย่างน้อย 300 PPI

ไฟล์ RAW หรือ Wide Gamut Workflow

ช่างภาพอาชีพที่ใช้โปรเซสการทำงานที่บันทึกไฟล์ภาพด้วยไฟล์ RAW ใช้โหมดสีความละเอียดสูงเช่น 16 bits/channel หรือมีการใช้โปรไฟล์ขอบเขตสีกว้างในการตกแต่งภาพอย่างโปรไฟล์ ProPhoto RGB ก่อนจะนำไฟล์มาล้างอัดก็จะต้องแปลงไฟล์ให้อยู่ในรูปแบบ JPEG โหมดสี 8bit/channel ในโปรไฟล์สี sRGB เช่นกัน

แนบโปรไฟล์ในไฟล์ภาพทุกครั้ง

ในโปรแกรมตระกูล Adobe ทุกครั้งที่มีการเซฟไฟล์โปรแกรมจะมีออฟชั่นให้เลือกว่าจะฝังโปรไฟล์ไว้ในไฟล์ภาพหรือไม่ ลูกค้าจะต้องฝังโปรไฟล์ทุกครั้ง และห้ามใช้คำสั่ง Save for Web หรือปลั๊กอินอื่นๆ ในการลดขนาดหรือบีบขนาดไฟล์ภาพอื่นๆ โดยเด็ดขาด เพราะฟังค์ชั่นเหล่านี้จะมีการถอดโปรไฟล์สีออกจากไฟล์ ซึ่งเหมาะสำหรับการนำไฟล์ภาพไปใช้แสดงผลในคอมพิวเตอร์อย่างเดียวแต่ไม่ควรนำมาใช้อัดรูป

3. การส่งงานมาให้เรา

หากลูกค้าได้ปรับโปรเซสการทำงานโดยควบคุมสีมาตั้งแต่ต้นทางแล้ว ในขั้นตอนการสั่งงานสามารถแจ้งตอนสั่งงานได้เลยว่าให้ แปลงโปรไฟล์สีด้วย ซึ่งทางร้านจะนำไฟล์งานของลูกค้าแปลงเข้าสู่ระบบพิมพ์ของทางร้านที่มีการควบคุมสีด้วยระบบจัดการที่แม่นยำสูง (Color Mananged Printing) เพื่อให้ได้งานอัดรูปสีตรงเป็นที่ไว้ใจของช่างภาพอาชีพจากทั่วประเทศค่ะ

ไม่ได้คาลิเบรตจอมอนิเตอร์จะสั่งงานแบบแปลงโปรไฟล์สีได้หรือไม่

ถึงแม้ทางร้านจะแนะนำให้ช่างภาพอาชีพนำระบบจัดการสีไปใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่สำหรับลูกค้าที่ยังไม่สะดวกก็สามารถสั่งงานได้เช่นกัน โดยทางร้านแนะนำให้ลองสั่งอัดรูปแบบแปลงโปรไฟล์สีในจำนวนขั้นต่ำไปทดลองดูก่อน งานที่ได้จะเป็นตัวบอกว่าจอมอนิเตอร์ของลูกค้าแสดงผลแสงสีแตกต่างจากมาตรฐานไปมากน้อยเพียงใด เรามีลูกค้าช่างภาพหลายท่านที่แม้จะไม่ได้คาลิเบรตจอมอนิเตอร์ แต่ก็พึงพอใจกับงานอัดรูปที่มีสีสันที่สดใสจากระบบจัดการสีของทางร้านค่ะ

มีโปรไฟล์สีของทางร้านให้ดาวน์โหลดหรือไม่

ปัจจุบันทางร้านได้ยุติการให้ดาวน์โหลดโปรไฟล์ของทางร้านเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเรามีการอัพเดทโปรไฟล์สีของเราอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งเราทำโปรไฟล์สีแยกสำหรับกระดาษและเครื่องอัดทุกเครื่องเพื่อให้งานที่ได้มีคุณภาพและความแม่นยำสูงที่สุด ทำให้ที่ผ่านมาพบว่าลูกค้าบางท่านแปลงโปรไฟล์สีผิดกระดาษ ผิดเครื่อง หรือไม่ได้อัพเดตโปรไฟล์สีเป็นเวอร์ชั่นใหม่ซึ่งจะกระทบกับคุณภาพงาน เราจึงให้บริการแปลงโปรไฟล์สีเข้าสู่ระบบการผลิตของเราโดยลูกค้าไม่ต้องทำเอง ซึ่งนอกจากจะสะดวกกับลูกค้าแล้วยังช่วยลดความผิดพลาดด้วยค่ะ

4. ปัจจัยที่มีผลต่อความแม่นยำสี

เนื่องจากเทคโนโลยีระบบพิมพ์ทุกระบบในปัจจุบันยังไม่มีระบบใดๆ ที่สามารถควบคุมสีให้แม่นยำ 100% ได้ในการเปรียบเทียบความแม่นยำของสีจากรูปที่ได้กับจอมอนิเตอร์จึงมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้

ขอบเขตสีของระบบเครื่องพิมพ์ (Printer Gamut)

โดยปกติแล้วระบบพิมพ์ทุกระบบจะมีขอบเขตสีแคบกว่าขอบเขตสีของไฟล์ภาพหรืออุปกรณ์แสดงผลเช่นหน้าจอมอนิเตอร์ สำหรับในขั้นตอนควบคุมคุณภาพสีในการผลิตของทางร้านนั้น สีที่อยู่ในขอบเขตสีของระบบอัดรูปของทางร้านจะมีความแม่นยำสูงไม่น้อยกว่า 90% และสำหรับสีที่อยู่นอกขอบเขตสีจะถูกแปลงสีโดยเลือกใช้สีที่ใกล้เคียงที่สุด

ขอบเขตสีของระบบอัดรูปของทางร้าน

ต้องใช้โปรแกรมที่รองรับระบบจัดการสีอย่างสมบูรณ์

ลูกค้าต้องใช้โปรแกรมที่รองรับระบบจัดการสีโดยสมบูรณ์ (Fully CMS aware applications) อย่าง Adobe Photoshop ในการตกแต่งไฟล์ภาพหรือเทียบสีไฟล์กับงานอัดรูปเท่านั้น โปรแกรมอื่นๆ เช่น ACDSee Photoscape หรือโปรแกรม Preview ต่างๆ ในระบบปฎิบัติการ Windows หรือ MacOS ไม่สามารถใช้เทียบสีได้

Illuminance vs Reflectance

ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงอีกอย่างหนึ่งคือจอมอนิเตอร์นั้นเป็นอุปกรณ์แสดงผลแบบ Illuminance คือเป็นแหล่งกำเนิดแสงในตัวเอง ส่วนงานอัดรูปนั้นกระดาษเป็นวัสดุ Reflectance ซึ่งต้องอาศัยแสงสะท้อนจากภายนอกเข้าสู่สายตา

สำหรับงานที่ต้องการความละเอียดเป็นพิเศษ ลูกค้าควรระมัดระวังในส่วนที่มึดมากๆ ของภาพ เพราะคุณสมบัติในการแสดงผล Deep Black ของจอมอนิเตอร์จะเข้ามามีผลกับการคุมคุณภาพงาน จอมอนิเตอร์ที่ไม่สามารถแสดงผลสีดำให้ดำสนิทได้หรือจอมอนิเตอร์รุ่นที่ใช้งานทั่วไปที่เมื่อแสดงผลส่วนที่ควรจะมึดมากๆ กลับยังมีแสงออกสว่างออกมาจากอุปกรณ์ Diode ทำให้ดีเทลในส่วนที่ควรจะดำสนิทกลับสว่างกว่าความเป็นจริง

สำหรับกระดาษอัดรูปนั้นเป็นวัสดุที่ต้องการแสงมาตกกระทบ สีของแสงจากแหล่งกำเนิดแสงเช่นหลอดไฟหรือแสงจากหน้าต่าง จะมีผลกับการมองสีที่อยู่บนกระดาษทั้งสิ้น ความแตกต่างเหล่านี้มักจะมีผลในส่วนที่มึดมากๆ หรือสว่างมากๆ ของภาพค่ะ (Near Black vs Near White)

เปรียบเทียบประสิทธิภาพของโปรไฟล์สี

โปรไฟล์สีของเราได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี ทำให้มีความแม่นยำและมีตอบสนองต่อสีได้กว้าง และเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีการพิมพ์ใด ๆ ที่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง 100% เราจึงได้ทำการพัฒนาโปรไฟล์สีของเราอย่างพิถีพิถันให้มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด หรือหากเปรียบเทียบกับการพิมพ์ในระบบอื่นแล้ว งานอัดรูปของทางร้านก็จะมีข้อได้เปรียบใหญ่ ๆ หลายข้อคือ

เปรียบเทียบความแม่นยำของสีด้วยค่า Delta E

ต้นฉบับ
ความแม่นยำสีของสโนว์ไวท์ดิจิตอลโฟโต์เซอร์วิส
ความแม่นยำสีของผู้ให้บริการ A
ความแม่นยำสีของผู้ให้บริการ B
ต้นฉบับ
ความแม่นยำสีของสโนว์ไวท์ดิจิตอลโฟโต์เซอร์วิส
ความแม่นยำสีของผู้ให้บริการ A
ความแม่นยำสีของผู้ให้บริการ B
ต้นฉบับ
ความแม่นยำสีของสโนว์ไวท์ดิจิตอลโฟโต์เซอร์วิส
ความแม่นยำสีของผู้ให้บริการ A
ความแม่นยำสีของผู้ให้บริการ B
ต้นฉบับ
ความแม่นยำสีของสโนว์ไวท์ดิจิตอลโฟโต์เซอร์วิส
ความแม่นยำสีของผู้ให้บริการ A
ความแม่นยำสีของผู้ให้บริการ B

มั่นใจในบริการจากสโนว์ไวท์ดิจิตอลโฟโต้เซอร์วิส

ลูกค้าจึงมั่นใจได้กับบริการจากสโนว์ไวท์ ดิจิตอลโฟโต้เซอร์วิส เนื่องจากเรามีทีมงานที่มีความรู้และประสบการณ์ในเทคโนโลยีภาพถ่ายดิจิตอลอย่างแท้จริง เราจึงให้ความสำคัญกับการผลิตงานให้กับลูกค้าในทุกขั้นตอน และหากลูกค้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ทาง ช่องทางติดต่อต่างๆ ได้เลยนะคะ

ติดต่อเรา

สอบถามเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการได้ทุกวัน (จันทร์-อาทิตย์)
08:00 - 18:00 น.

โทรศัพท์

087-869-8499

093-380-6488

คุยกับเรา
@snowwhite.co.th
snowwhite.co.th

อีเมลล์
info@snowwhite.co.th

แผนผังเว็บไซต์

หน้าแรก

สินค้าและบริการ

อัดรูป
การ์ดแต่งงาน
สติ๊กเกอร์
นามบัตร
แคนวาสและกรอบลอย
งานพิมพ์ดิจิตอลฯ
ปฏิทินใส่รูปได้
ถ่ายรูปติดบัตร
รีทัชรูป
ซ่อมแซมแก้ไขภาพเก่า
สแกนภาพ ล้างและสแกนฟิลม์
อัลบั้มและกรอบรูป

การชำระเงิน

การชำระเงิน
อัตราค่าจัดส่ง

ความรู้

วิธีการเตรียมไฟล์งานอัดรูป
วิธีการเตรียมไฟล์พิมพ์ดิจิตอลฯ
ระบบจัดการสี
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

วิธีการใช้บริการ

วิธีสั่งงานอัดรูปหน้าเว็บไซต์
วิธีสั่งงานทาง Dropbox ฯลฯ
วิธีสั่งงานทาง E-mail
วิธีสั่งงานทาง DVD/CD

ดาวน์โหลด

โปรไฟล์สี

โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค

Facebook
Instagram

เกี่ยวกับเรา

ที่ตั้งสาขา
สมัครงาน

อื่น ๆ

แบบสอบถาม
Privacy Policy