วิธีการเตรียมไฟล์งานอัดรูป

เพื่อให้ได้งานที่สีสวย คมชัด คุณภาพงานสูงที่สุด

ปฏิทินภาพถ่าย 2024

มาแล้ว!! ปฏิทินใส่รูปได้ 2024

สั่งปฎิทินภาพถ่าย ให้เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนสำคัญได้แล้ววันนี้ค่ะ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยนะคะ

ไฟล์จากกล้องดิจิตอล หรือโทรศัพท์มือถือ

ไฟล์ภาพถ่ายที่มาจากกล้องดิจิตอล หรืออุปกรณ์พกพาเช่นแท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้บริการอัดรูปได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการเตรียมการใดๆ เป็นพิเศษเลยค่ะ แต่ลูกค้าหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าลูกค้าสามารถกำหนดรูปแบบการอัดรูปเพิ่มเติมได้อีกหลายอย่าง เพื่อให้ได้งานออกมาตรงตามความต้องการอย่างคุ้มค่าที่สุดดังต่อไปนี้

กระดาษอัดรูป

เราให้บริการอัดรูปด้วยกระดาษสองยี่ห้อ คือ Super Digital Pro และ Kodak Royal ซึ่งกระดาษทั้งสองยี่ห้อที่เราคัดเลือกมาให้บริการนั้น ไม่มีความแตกต่างกันเลยในเรื่องของคุณภาพของตัวงาน เนื่องจากเรามีการควบคุมการผลิตโดยทีมงานที่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในระบบการอัดรูปจากไฟล์ดิจิตอล รวมทั้งระบบจัดการสีที่แม่นยำที่สุด ไม่ว่าลูกค้าจะเลือกกระดาษยี่ห้อไหนก็ตาม สีสันหรือความคมชัดที่ได้จึงไม่แตกต่างกันเลยค่ะ ส่วนความหนาของกระดาษ และความคงทนของภาพถ่ายเมื่อเก็บไว้เป็นเวลานาน ก็ไม่ต่างกันเช่นเดียวกันค่ะ

แต่ในเรื่องของราคานั้น กระดาษ Kodak Royal จะมีราคาสูงกว่า เนื่องจากเป็นกระดาษเกรดพรีเมี่ยมจากบริษัท Kodak จึงเหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการเลือกใช้กระดาษแบรนด์เนมค่ะ

ผิวของกระดาษ

สำหรับกระดาษ Super Digital Pro ขนาดไม่เกิน 6x9 นิ้ว จะเลือกได้ระหว่างผิวมันกับผิวด้าน ส่วนรูปขยายใหญ่จะมีเป็นกระดาษด้านเท่านั้นนะคะ ส่วนกระดาษ Kodak Royal นั้นเราให้บริการเฉพาะผิวมันและขนาดไม่เกิน 6x9 นิ้วค่ะ กระดาษมันจะมีความมันวาวสะท้อนกับแสงไฟให้ความหรูหรา รอยนิ้วมือที่เกิดจากการสัมผัสสามารถเช็ดออกได้ด้วยผ้าสะอาด ส่วนกระดาษด้านจะไม่เป็นรอยนิ้วมือและเมื่อสะท้อนแสงจะเห็นเป็นเท็กซ์เจอร์กระดาษแบบทรายละเอียดระยิบระยับนะคะ

ตัวอย่างกระดาษมัน
ตัวอย่างกระดาษด้าน

การอัดรูปแบบมีขอบขาว

เป็นที่นิยมสำหรับภาพถ่ายงานแต่งงาน หรือภาพถ่ายท่องเที่ยววิวทิวทัศน์ที่สวยงาม เนื่องจากการอัดรูปแบบมีขอบขาวช่วยเน้นให้ภาพโดดเด่นขึ้น คล้ายกับโปสการ์ดที่จำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

ตัวอย่างการอัดแบบมีขอบขาว

สัดส่วนของไฟล์ภาพ และการอัดรูปแบบเต็มไฟล์

ปกติแล้วหากสัดส่วนของไฟล์ภาพพอดีกับสัดส่วนของกระดาษลูกค้าก็จะได้รูปอัดที่สมบูรณ์ แต่ในกรณีที่สัดส่วนของไฟล์ภาพของลูกค้าไม่พอดีกับขนาดรูปที่ต้องการอัดออกมา จำเป็นจะต้องมีบางส่วนของไฟล์ภาพที่เกินออกมาถูกตัดออกไป โดยทางร้านจะเลือกตัดส่วนที่ไม่ได้เป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพค่ะ ถ้าหากลูกค้าไม่ต้องการให้มีการตัดส่วนเกินของไฟล์ภาพเลย สามารถสั่งอัดแบบ "เต็มไฟล์" ได้นะคะ โดยภาพก็จะถูกย่อลงให้พอดีกับกระดาษ แต่จะมีขอบขาวสองด้านอยู่บนกระดาษค่ะ

ตัวอย่างการอัดรูปที่มีสัดส่วนของไฟล์ภาพและกระดาษแตกต่างกัน
ไฟล์ที่มาจากกล้องคอมแพคที่มีสัดส่วน 4:3
ไฟล์ดิจิตอลสัดส่วน 4:3
สัดส่วนไม่เท่ากับขนาดรูปที่ต้องการอัด 3:2
สัดส่วนไม่เท่ากับกระดาษ
อัดรูปแบบปกติจะมีบางส่วนของไฟล์ภาพถูกตัดออก
อัดแบบปกติจะมีบางส่วนของไฟล์ภาพถูกตัดออก
อัดรูปแบบเต็มไฟล์ ภาพจะสมบูรณ์แต่จะมีขอบขาวสองด้านบนกระดาษ
อัดแบบ เต็มไฟล์ ภาพจะสมบูรณ์แต่จะมีขอบขาวสองด้าน
อัดรูปแบบเต็มไฟล์ ภาพจะสมบูรณ์แต่จะมีขอบขาวสองด้านบนกระดาษ
หรืออัดแบบ เต็มไฟล์ขอบขาว จะมีขอบขาวทั้งสี่ด้านแต่จะมีสองด้านที่ใหญ่กว่าปกติ

สำหรับกล้องดิจิตอล SLR สัดส่วนของไฟล์ภาพที่ได้จะเป็น 3:2 ซึ่งเป็นสัดส่วนมาตรฐานที่สามารถอัดรูปเช่นขนาด 4x6 นิ้วได้สมบูรณ์อยู่แล้ว แต่สำหรับกล้องคอมแพคหรืออุปกรณ์พกพาอื่นๆ ลูกค้าสามารถปรับค่าสัดส่วนของไฟล์ภาพได้ในเมนูที่ชื่อว่า Aspect Ratio ของกล้องหรืออุปกรณ์นั้นๆ นะคะ

การเตรียมไฟล์งานกราฟฟิค

สำหรับลูกค้าที่เป็นกราฟฟิคดีไซน์เนอร์ ที่มีความเข้าใจในระบบงานเตรียมไฟล์สำหรับพิมพ์อยู่แล้ว ต้องการเตรียมอาร์ทเวิร์คเพื่อใช้ผลิตในระบบอัดรูป โดยใช้โปรแกรม Photoshop Illustrator หรือ InDesign อยากให้ลองอ่านรายละเอียดต่อไปนี้ก่อนนะคะ การเตรียมไฟล์ให้ถูกต้องเหมาะสมจะทำให้ลูกค้าได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพสูงสุดและตรงตามความต้องการค่ะ โดยเบื้องต้นตัวไฟล์จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ค่ะ

ประเภทของไฟล์

จะต้องเป็นไฟล์ JPEG เท่านั้น เนื่องจากระบบพิมพ์ของเครื่องอัดรูป จะออกแบบมาให้รับไฟล์งาน JPG เป็นหลักค่ะ หากลูกค้าส่งงานมาในฟอร์แมทอื่น ทางร้านจะต้องทำการแปลงไฟล์ก่อน ซึ่งอาจจะมีช่องว่างให้เกิดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากเวอร์ชั่นของโปรแกรมที่แตกต่างกันได้เป็นต้นค่ะ

โหมดสี

ไฟล์งานจะต้องอยู่ในโหมดสี RGB 8 bit/channel และจะต้องใช้โปรไฟล์สี sRGB เท่านั้น ห้ามใช้โหมดสีอื่นๆ เช่น CMYK เป็นอันขาด เพราะจะทำให้สีออกมาคลาดเคลื่อนอย่างแน่นอน ทางร้านจะไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของโหมดสีในไฟล์ลูกค้าก่อนผลิตได้นะคะ เนื่องจากกระบวนการในการอัดรูปถูกออกแบบมาให้ผลิตงานพร้อมกันทีละจำนวนมากๆ ทางร้านไม่สามารถเปิดเช็คโหมดสีทีละไฟล์ได้ ดังนั้นต้องรบกวนลูกค้าเตรียมไฟล์มาให้ถูกต้องด้วยค่ะ

ความแม่นยำของสี

ระบบอัดรูปของทางร้านจะมีการควบคุมความเที่ยงตรงของสีด้วยระบบ Color Management System ที่มีความแม่นยำสูง และเป็นที่ไว้วางใจของช่างภาพมืออาชีพทั่วประเทศ เรามีทีมงานที่มีความเข้าใจระบบไฟล์ดิจิตอลเป็นอย่างดี สีจึงมีความแม่นยำถึง 90-99% สำหรับสีอยู่ที่ในขอบเขตสีของระบบอัดรูป (Output Gamut) ลูกค้าสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ ระบบจัดการสี ค่ะ

ความละเอียด

ค่าที่เหมาะสมคือ 300 PPI (Pixels/Inch) ในขั้นตอนการสร้างไฟล์ลูกค้าสามารถกำหนดขนาดรูปที่ต้องการ ความละเอียด รวมทั้งโหมดสีได้ตามตัวอย่างด้านล่างนี้ค่ะ

การตั้งค่าไฟล์ใน Photoshop
ตัวอย่างการตั้งค่าอาร์ทเวิร์คขนาด 8x12 นิ้วใน Photoshop

นอกจากการตั้งค่าความละเอียดของไฟล์โดยใช้ค่า PPI แล้ว ลูกค้าอาจจะใช้วิธีการกำหนดค่า Pixels โดยตรงก็ได้เช่นกันค่ะ โดยมีสูตรคำนวณง่ายๆ คือให้เอาความยาวแต่ละด้านของชิ้นงาน (หน่วยเป็นนิ้ว) มาคูณกับ 300 ก็จะได้ขนาดไฟล์เป็น Pixels ตัวอย่างเช่น หากต้องชิ้นงานขนาด 6x9 นิ้ว ให้นำด้านหกนิ้วมาคูณสามร้อยและด้านเก้านิ้วคูณสามร้อย ก็จะได้ความละเอียดไฟล์ที่เหมาะสมเป็น 1800x2700 pixels ค่ะ

ระยะห่างจากขอบชิ้นงาน และระยะตัดตก (Margin & Bleed)

ในระบบการพิมพ์ทุกระบบนั้น จะมีความคลาดเคลื่อนในการตัดกระดาษที่เกิดขึ้นมากน้อยแตกต่างกันไป โดยทางร้านแนะนำให้จัดองค์ประกอบของอาร์ทเวิร์คดังนี้ค่ะ

ระยะห่างจากขอบชิ้นงาน (Margin)

ควรเว้นระยะของ ตัวอักษร โลโก้ หรือองค์ประกอบที่มีนัยสำคัญให้ห่างจากขอบชิ้นงานอย่างน้อย 3 มม. นอกจากเรื่องความสวยงามในด้านองค์ประกอบศิลป์แล้ว ยังช่วยให้ลวดลายหรือตัวอักษรต่างๆ เหล่านี้ไม่ถูกตัดขาดจากกระบวนการตัดกระดาษด้วยค่ะ

ลวดลายที่เป็นองค์ประกอบสำคัญชิดขอบชิ้นงานเกินไป อาจจะถูกตัดขาดได้
✗ ตัวอย่างการวางงานไม่ถูกต้อง เพราะลวดลายที่เป็นองค์ประกอบสำคัญชิดขอบชิ้นงานเกินไป อาจจะถูกตัดขาดได้

การเว้นระยะมาร์จินที่เหมาะสม
✓ ตัวอย่างการวางงานที่ถูกต้อง ลวดลายอยู่ห่างจากขอบชิ้นงานเกิน 3 มม. และยังทำให้งานออกมาดูดีไม่แน่นเกินไป

ระยะตัดตก (Bleed)

สำหรับงานอัดรูป ลูกค้าไม่จำเป็นต้องทำระยะตัดตกมาในอาร์ทเวิร์ค เนื่องจากระบบอัดรูปนั้นจะมีกลไกชดเชยความคลาดเคลื่อนของกระดาษที่แตกต่างจากระบบพิมพ์ทั่วไป โดยระบบอัดรูปจะทำการยิงภาพลงบนกระดาษโดยให้ภาพใหญ่กว่าขนาดกระดาษออกไปประมาณ 1% ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างเล็กดังภาพตัวอย่างค่ะ แต่หากลูกค้าต้องการความละเอียดแม่นยำในตัวอาร์ทเวิร์คสูง อาจจะเลือกใช้ค่าความละเอียดเป็น 303 PPI แทน 300 PPI โดยพิกเซลล์ที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 1% จะถูกตัดทิ้งไปในขั้นตอนการตัดกระดาษค่ะ

ระบบอัดรูปจะใช้วิธียิงภาพให้ใหญ่กว่าขนาดกระดาษประมาณ 1%
เส้นขาวคือขนาดกระดาษ ระบบอัดรูปจะใช้วิธียิงภาพให้ใหญ่กว่าขนาดกระดาษประมาณ 1% ส่วนที่เกินเส้นขาวออกมาจะถูกตัดทิ้ง

ขนาดชิ้นงานพิเศษ

หากขนาดชิ้นงานที่ลูกค้าต้องการ ไม่ตรงกับขนาดอัดรูปมาตรฐานที่ทางร้านให้บริการ ให้ลูกค้าสร้างชิ้นงานตามขนาดที่ต้องการและผลิตอาร์ทเวิร์คให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจึงนำตัวอาร์ทเวิร์คมาวางลงบนขนาดชิ้นงานมาตรฐานที่ใหญ่กว่าซึ่งจะเหลือขอบขาว เมื่อสั่งล้างอัดแล้วลูกค้าสามารถนำไปตัดขอบขาวออกได้ค่ะ

ตัวอย่างการวางอาร์ทเวิร์คปกกล่อง DVD ขนาด 10.74x7.23 นิ้ว ลงบนกระดาษขนาด 8x12 นิ้ว เหลือขอบขาวนำไปตัดเอง
ตัวอย่างการวางอาร์ทเวิร์คปกกล่อง DVD ขนาด 10.74x7.23 นิ้ว ลงบนกระดาษขนาด 8x12 นิ้วเพื่อสั่งล้างอัด เมื่อได้รูปแล้วให้นำไปตัดขอบขาวออกค่ะ

การย่อไฟล์ภาพหรือขยายไฟล์ภาพ

เมื่อลูกค้าทำการปรับแก้ขนาดของไฟล์ภาพถ่ายด้วยโปรแกรมตกแต่งภาพ ไม่ว่าจะเป็นการย่อ ขยาย หมุน หรือบิดภาพ จะทำให้เกิดการสูญเสียหรือขาดหายของข้อมูลภาพดิจิตอลในระดับพิกเซลล์อยู่ตลอดเวลา โปรแกรมตกแต่งภาพจึงต้องมีกระบวนการในการเติมเต็มพิกเซลล์ที่หายไปหรือปรับแก้พิกเซลล์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้ภาพที่ถูกแก้ไขมีความสวยงามที่สุด ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า Image Interpolation โดยทางร้านแนะนำให้เลือกใช้แล้วแต่ลักษณะงานดังต่อไปนี้

การย่อภาพ

ควรเลือกใช้แบบ Image Interpolation แบบ Bicubic เพราะจะมีการไล่โทนภาพที่สวยงามกว่า เหมาะสมกับการใช้งานทั่วไป และปรับแก้ไขไฟล์ภาพถ่ายทุกประเภท

การเลือกประเภทของ Image Interpolation ในคำสั่ง Image Size ของโปรแกรม Photoshop
การเลือกประเภทของ Image Interpolation ในคำสั่ง Image Size ของโปรแกรม Photoshop

การขยายภาพ

โดยปกติการขยายไฟล์จากไฟล์ขนาดเล็กเป็นขนาดใหญ่นั้นจะทำให้ไฟล์ภาพมีลักษณะแตกเบลออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปัจจุบันยังไม่มีเทคนิคใดๆ ที่จะสามารถคงความคมชัดของไฟล์เอาไว้ได้เมื่อนำมาขยายพิกเซลล์ออก แต่ลูกค้าสามารถเลือกใช้ Image Interpolation แบบ Preserve Details ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของโปรแกรม Photoshop ที่จะช่วยรักษาความคมชัดของไฟล์ภาพไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การขยายไฟล์ภาพด้วย Nearest Neighbor Interpolation

ขยายไฟล์ขึ้น 3.5 เท่าแบบ Bicubic ภาพจะแตกและเบลอ
ขยายไฟล์ขึ้น 3.5 เท่าแบบ Bicubic ภาพจะแตกและเบลอ

ขยายไฟล์ขึ้น 3.5 เท่าแบบ Preserve Details คงความคมชัดไว้ได้มากกว่า
ขยายไฟล์ขึ้น 3.5 เท่าแบบ Preserve Details คงความคมชัดไว้ได้มากกว่า

การขยายไฟล์แบบคงความเป็นพิกเซลล์

สำหรับไฟล์ที่มีรูปแบบของการประกอบขึ้นจากสี่เหลี่ยมที่มีขอบเขตชัดเจน เราสามารถขยายไฟล์โดยคงคุณภาพเดิมเอาไว้ได้โดยใช้ Image Interpolation แบบ Nearest Neighbor ซึ่งจะรักษาคุณภาพของตัวอาร์ทเวิร์คเอาไว้ได้ 100%

การขยายไฟล์ภาพด้วย Nearest Neighbor Interpolation

การตั้งค่ามาตรฐานของ Image Interpolation

สำหรับการแก้ไขภาพในโปรแกรม Photoshop ด้วยวิธีอื่นๆ เช่นการ Scale, Rotate, Wrap ฯลฯ นอกเหนือจากการใช้คำสั่ง Image Size นั้น โปรแกรมจะต้องมีการทำ Image Interpolation ด้วยเช่นกัน ซึ่งลูกค้าสามารถกำหนดค่ามาตรฐานในการทำงานส่วนอื่นของโปรแกรม Photoshop ได้ในเมนู Preferences ▶ General ▶ Image Interpolation โดยทางร้านแนะนำให้ตั้งเอาไว้เป็น Bicubic ค่ะ

การตั้งค่ามาตรฐานของ Image Interpolation สำหรับการทำงานส่วนอื่นๆ ของโปรแกรม

การเซฟไฟล์

ให้ลูกค้าเซฟไฟล์ในฟอร์แมท JPEG ปกติ โดยตั้งค่าคุณภาพไฟล์ (Quality) ให้สูงที่สุดที่โปรแกรมให้ตั้งได้ รวมถึงทำการแนบโปรไฟล์สีไว้ในไฟล์ด้วย และไม่ควรใช้คำสั่ง Save for Web เด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้ไฟล์มีคุณภาพต่ำไม่เหมาะสำหรับใช้ในงานพิมพ์

เลือกฟอร์แมทเป็น JPEG และทำการแนบโปรไฟล์สี sRGB
เลือกฟอร์แมทเป็น JPEG พร้อมแนบโปรไฟล์สี sRGB

ตั้งค่าคุณภาพไฟล์สูงที่สุดที่โปรแกรมอนุญาต
ตั้งค่าคุณภาพไฟล์สูงที่สุดที่โปรแกรมอนุญาต

เกร็ดความรู้อื่นๆ

PPI vs DPI

ลูกค้าที่เคยใช้เครื่องพิมพ์ในระบบ Inkjet มาแล้ว อาจจะสังเกตุว่าการพิมพ์ในระบบ Inkjet จะมีค่า DPI สูง (1440 DPI หรือมากกว่า) แต่ทำไมงานพิมพ์ที่ได้จึงมีความคมชัดไม่เท่าการอัดรูปที่ร้านซึ่งปรินท์อยู่ที่มาตรฐาน 300 PPI ทั้งนี้เนื่องจากหน่วย DPI ในเครื่องพิมพ์ Inkjet นั้นใช้วัด "หยดหมึก" ต่อนิ้ว (ink droplet) ซึ่งเป็นคนละหน่วยกับหน่วย PPI หรือพิกเซลล์ต่อนิ้ว และเนื่องจากเครื่องพิมพ์ Inkjet นั้นมีสีอยู่เพียง 4-5 สี จึงต้องใช้หยดหมึกจำนวนมากในการผสมเพื่อแสดงสีของพิกเซลล์เพียงพิกเซลล์เดียว นั่นทำให้ค่า DPI ในระบบ Inkjet มีค่าสูง แต่เมื่อวัดด้วยหน่วย PPI แล้ว การพิมพ์ในระบบ Inkjet ส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ระดับ 150-240 PPI ซึ่งต่ำกว่าการอัดรูปที่ร้าน (ซึ่งทางร้านของเราใช้เครื่องที่ปริ้นท์ได้ถึงระดับ 640 PPI) จึงเป็นเหตุผลที่การพิมพ์ในระบบ Inkjet ส่วนใหญ่ยังมีความคมชัดต่ำกว่าการนำรูปมาอัดที่ร้านนั่นเอง

ความละเอียดไฟล์ภาพสำหรับอัดรูปขนาดต่างๆ

ความละเอียดเป็นพิกเซลล์ (Pixels) คือหน่วยวัดคุณภาพไฟล์ที่ลึกที่สุดที่สามารถตรวจสอบความละเอียดของไฟล์ได้โดยตรงโดยไม่ต้องอิงกับความละเอียดแบบ PPI ลูกค้าสามารถตรวจสอบความละเอียดแบบพิกเซลล์ของไฟล์ที่จะใช้อัดรูปหรือในงานพิมพ์ขนาดต่างๆ รวมถึงการเทียบเคียงกับจำนวนพิกเซลล์ของกล้องถ่ายภาพดิจิตอลได้ตามตารางด้านล่างนี้นะคะ

ขนาดรูป (นิ้ว) ความละเอียดพิกเซลล์ (pixels) จำนวนพิกเซลล์
4x6 1200x1800 2.2 Megapixels
5x7 1500x2100 3.2 Megapixels
6x8 1800x2400 4.3 Megapixels
6x9 1800x2700 4.9 Megapixels
8x10 2400x3000 7.2 Megapixels
8x12 2400x3600 8.6 Megapixels
10x12 3000x3600 10.8 Megapixels
10x15 3000x4500 13.5 Megapixels
12x15 3600x4500 16.2 Megapixels
12x16 3600x4800 17.3 Megapixels
12x18 3600x5400 19.4 Megapixels
16x20 4800x6000
(หรือ 3200x4000 @ 200 PPI)
28.8 Megapixels
16x24 4800x7200
(หรือ 3200x4800 @ 200 PPI)
34.6 Megapixels
20x24 6000x7200
(หรือ 4000x4800 @ 200 PPI)
43.2 Megapixels
20x30 6000x9000
(หรือ 4000x6000 @ 200 PPI)
54.0 Megapixels
24x30 7200x9000
(หรือ 4800x6000 @ 200 PPI)
64.8 Megapixels
24x36 7200x10800
(หรือ 4800x7200 @ 200 PPI)
77.8 Megapixels

ติดต่อเรา

สอบถามเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการได้ทุกวัน (จันทร์-อาทิตย์)
08:00 - 18:00 น.

โทรศัพท์

087-869-8499

093-380-6488

คุยกับเรา
@snowwhite.co.th
snowwhite.co.th

อีเมลล์
info@snowwhite.co.th

แผนผังเว็บไซต์

หน้าแรก

สินค้าและบริการ

อัดรูป
การ์ดแต่งงาน
สติ๊กเกอร์
นามบัตร
แคนวาสและกรอบลอย
งานพิมพ์ดิจิตอลฯ
ปฏิทินใส่รูปได้
ถ่ายรูปติดบัตร
รีทัชรูป
ซ่อมแซมแก้ไขภาพเก่า
สแกนภาพ ล้างและสแกนฟิลม์
อัลบั้มและกรอบรูป

การชำระเงิน

การชำระเงิน
อัตราค่าจัดส่ง

ความรู้

วิธีการเตรียมไฟล์งานอัดรูป
วิธีการเตรียมไฟล์พิมพ์ดิจิตอลฯ
ระบบจัดการสี
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

วิธีการใช้บริการ

วิธีสั่งงานอัดรูปหน้าเว็บไซต์
วิธีสั่งงานทาง Dropbox ฯลฯ
วิธีสั่งงานทาง E-mail
วิธีสั่งงานทาง DVD/CD

ดาวน์โหลด

โปรไฟล์สี

โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค

Facebook
Instagram

เกี่ยวกับเรา

ที่ตั้งสาขา
สมัครงาน

อื่น ๆ

แบบสอบถาม
Privacy Policy